ลายอัมปรม หรือ ลายอันปรม

อัมปรม เป็นผ้ามัดหมี่สองทางคือ โดยมีการมัดย้อมทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ซึ่งแตกต่างจากผ้ามัดหมี่ทั่วไปของประเทศไทย
ที่ส่วนใหญ่เป็นมัดหมี่เฉพาะเส้นพุ่ง อัมปรม เป็นผ้ามัดหมี่ของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายเขมรในบริเวณอิสานใต้ ได้แก่ บริเวณจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ การทอผ้าแบบนี้มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
ตามปกติผ้าไหมมัดหมี่ในประเทศไทย จะเป็นการมัดเฉพาะเส้นพุ่ง ส่วนประเทศที่มีการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืนมีอยู่เพียง 4 ประเทศเท่านั้น คือ แกรซังของประเทศจีน ปโตลาของประเทศ อินเดียตอนเหนือ บาหลีของประเทศอินโดนีเซีย และประเทศญี่ปุ่น แต่ในจังหวัดสุรินทร์ มีการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่ง และเส้นยืน คือ อัมปรม ทำให้เชื่อว่า ศิลปะการทอผ้าไหมมัดหมี่ชนิดแรกที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นอัมปรมนี้เอง จึงน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกพร้อมๆกับ การแผ่ขยายทางศาสนาฮินดู เมื่อสมัย 2,000 ปี มาแล้ว
อัมปรม นับเป็นผ้าที่ชาวสุรินทร์ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งและเป็นเอกลักษณ์ของผ้ามัดหมี่สุรินทร์โดยแท้ อีกทั้งยังเป็นลายผ้าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นมรดกตกทอดมาหลายชั่วอายุคน
ลายอัมปรมเป็นลายตารางที่มีลายขีดสีขาวลอยเด่นบนผ้า เรียกว่า “จองกรา” ซึ่งเกิดจากการมัดหมี่แบบสองทางและมัดย้อมสีทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ส่วนลายขีดสีขาวที่เส้นยืนและเส้นพุ่งตัดกันเหมือนเครื่องหมายบวกหรือกากบาท เรียกว่า “กราประ” เส้นพุ่งสีให้ได้สีที่ต้องการ คือ สีแดงครั่ง สีดำ สีแสด สีเหลือง สีเขียว สีขาว เป็นต้น