ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำ จังหวัดสุรินทร์

Unique Cloth Pattern of Surin Province

คณารัตน์ เมฆแสน (2566)

“ไหม” “ผ้าไหมสุรินทร์”

“ผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์”

ผ้าทอเมืองสุรินทร์ หรือผ้าไหมสุรินทร์ มีรากเหง้ามาตั้งแต่อดีต มีประวัติความเป็นมายาวนานว่า บรรพบุรุษใช้เส้นไหมน้อยทอผ้า จึงมีความพลิ้วไหว เมื่อสวมใส่แล้วไม่ร้อน เป็นลักษณะเด่ดอีกของนึ่งของผ้าไหมสุรินทร์ ชาวบ้านท้องถิ่นปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีพันธุ์ไหมเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงภูมิปัญญาและงานฝีมือในการทอที่ซับซ้อนผสมผสานถ่ายทอดหลักการ เทคนิค และกรรมวิธีการในการทอของบรรพบุรุษสืบต่อกันมา เช่นการเลี้ยงไหม การมัดหมี่ การย้อมสี และการทอ โดยคงรักษารูปแบบลวดลาย สีสัน ความประณีต และกลวิธีการทอแบบโบราณไว้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มแต่ละเชื้อสายภาษาในจังหวัดสุรินทร์ มีลักษณะการทอผ้าแตกต่างกันในด้านกลวิธีการทอ ลวดลาย การให้สี การย้อมสี และวัสดุการใช้ โดยมีการพัฒนานวัตกรรมการทอและสร้างสรรค์รูปแบบลวดลายผ้าให้เข้ากับยุคสมัย และความนิยมของตลาด

ศิลปะบนผ้าไหมสุรินทร์ เรียกได้ว่าเป็นยุคร่วมสมัยกับเขมร จากประวัติศาสตร์เส้นทางสายไหม เริ่มต้นจากสุรินทร์สู่เขมร จากหลักฐานข้อมูลลวดลายที่ถ่ายทอดเช่น ลายพระตะบอง (เมืองเขมร) ซึ่งยังมีให้เห็นในปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่มีเอกลักษณ์ เป็นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมกับฝีมือ สร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นจน ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ถือได้ว่า สุรินทร์เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทยมีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมานานและได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม จนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในเรื่อง ผ้าไหม

คณารัตน์ เมฆแสน (2566)

การทอผ้าไหมสุรินทร์มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น  ๆ เพราะมีการทอทุกแบบที่มีอยู่ในประเทศไทย และลายผ้ามัดหมี่ของจังหวัดสุรินทร์นั้น นอกจากมีลายธรรมดาที่มีอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว ยังมีลายที่แปลกและไม่เหมือนจังหวัดใดเลยอีกมาก ทำให้ผ้าไหมสุรินทร์มีลายผ้าเอกลักษณ์มากกว่า ๑ ลาย ได้มีการคิดค้นสร้างสรรค์พัฒนาทั้งเรื่องลวดลายของผ้าไหม การผลิตเส้นไหมน้อย และกรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อน เช่น การทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว ซึ่งทำให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่นมีคุณค่า ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ยากต้องใช้ความสามารถและความชำนาญ และมีการทอที่เดียวในประเทศไทย

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการถวายความจงรักภักดีและต่อยอดพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จังหวัดสุรินทร์ได้ตระหนักในคุณค่าแห่งภูมิปัญญางานหัตถกรรมทอผ้า ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวสุรินทร์อันควรค่าแก่การรักษา ส่งเสริม เผยแพร่ สืบสาน และสร้างสรรค์ศิลปะลวดลายบนผืนผ้าไหมให้คงอยู่สืบต่อไปที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์มรดกทางภูมิปัญญา วิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันโดดเด่นของจังหวัดสุรินทร์ จึงได้ประกาศลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ ในเบื้องต้น

จำนวน 7 ลาย ได้แก่

  1. ผ้าโฮล
  2. ผ้าอัมปรม, อันปรม
  3. ผ้าสมอ, ผ้าสะมอ, ชมอ
  4. ผ้าอันลุยซึม, อันลูนซีม, อันลูญซึม
  5. ผ้าละเบิก
  6. ผ้าสาคู
  7. ผ้าหางกระรอก, ผ้ากะเนียว


ที่มา:
ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด ๗๖ จังหวัด
พัฒชระ มากมี
บ้านเครื่องอัง กวร เนียง อ.บัวเชด จ.สุรินทร์