ลายหางกระรอกหรือกะเนียว

“ผ้าหางกระรอก” เป็นผ้าทอโบราณที่มีลักษณะลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความประณีตและงดงาม โดยใช้เทคนิคการทอผ้า
ที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไทคือ “การควบเส้น” หรือคนไทยเรียกว่า “ผ้าหางกระรอก”
ผ้าหางกระรอกถือเป็นผ้าโบราณที่พบมากในแถบอีสานใต้คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และพบในภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ตรัง “โฮลเปราะห์” และสตรีใช้นุ่งทอเปลงเป็นลายริ้ว เรียกว่า “โฮลแสร็ย”
จังหวัดนครราชสีมา ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งทอผ้าหางกระรอก ที่สามารถทอผ้าได้งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งลักษณะสำคัญ
ของผ้าหางกระรอกคือ เป็นผ้าพื้นเรียบที่ใช้เทคนิคการทอพิเศษ ที่นำเส้นพุ่งพิเศษโดยใช้เส้นไหม หรือเส้นฝ้าย 2 เส้น 2 สี มาตีเกลียวควบเข้าด้วยกันให้เป็นเส้นเดียว ที่เรียกว่า เส้นลูกลาย หรือ ไหมลูกลาย หรือ เส้นหางกระรอก ใช้อุปกรณ์ในการตีคือ ไน และโบก ซึ่งต้องอาศัยทักษะความชำนาญของผู้ตีเกลียวที่จะทำให้ได้เกลียวถี่ หรือเกลียวห่างตามต้องการ ส่วนเส้นไหมที่จะนำมาตีเกลียวนั้นควรเป็น เส้นไหมน้อยที่คัดเป็นพิเศษให้ได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอกัน จากนั้นจึงนำไปเป็นเส้นพุ่งทอผ้า และผ้าที่ได้จะมีลักษณะลวดลายเล็กๆ ในตัวมีสีเหลือบมันวาวระยับดูคล้ายเส้นขนของหางกระรอก ครั้งหนึ่งผ้าหางกระรอกเคยเป็นผ้าประจำจังหวัดนครราชสีมา ตามคำขวัญเดิมของจังหวัดที่ว่า “นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอก ดอกสายทอง แมวสีสวาท” เพราะโคราชมีการทอผ้าหางกระรอกมานานกว่าร้อยปี
จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ชาวกูยนิยมใช้และทอผ้าไหมควบ สตรีชาวกูยมีความชำนาญในการตีเกลียวเส้นไหม เรียกว่า ละวี
หรือ ระวี ตามความเชื่อ เรื่องความกลมเกลียวสามัคคีกันในครอบครัวและสายตระกูลที่นับถือผีด้วยกัน การนำไหมสองสีมาควบกันเรียกว่า “กะนีว” หรือ “ผ้าหางกระรอก” เมื่อนำมาใช้เป็นเส้นพุ่งทอกับเส้นยืน สีพื้นจะทำให้เกิดลายเหลื่อมกันเป็นสีเหลืองคล้ายหางกระรอก ลักษณะของผ้ากะนีวนี้ผิวสัมผัสจะมีความมันระยิบระยับ เมื่อนำไปส่องกับแดดจะแยกสีได้ชัดเจน ผู้ชายไทยกูย นิยมนุ่งผ้าไหมควบ (หะจิกกะน้อบ) สำหรับนุ่งโจงกระเบน
ชื่อที่เรียกว่า “ผ้าหางกระรอก” อาจเป็นเพราะลวดลายของผ้าทอที่มีลักษณะเนื้อผ้าที่มีความเหลือบสี เห็นเป็นลายเส้นเล็กๆ ในตัว ซึ่งมองดูแล้วคล้ายกับขนของหางกระรอก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกดังกล่าว นอกจากนี้ ชื่อเรียกผ้าชนิดนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามรูปลักษณ์ที่มุ่งเน้นเช่น บางพื้นที่เรียกว่า ผ้าวา ผ้ายาว ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะความยาวของผืนผ้าที่ยาวกว่าผ้าถุงเท่าตัว บางพื้นที่เรียกว่า ผ้าควบ เพราะถือเอาวิธีการทอแบบตีเกลียวควบมาใช้เป็นชื่อเรียก แต่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่าผ้าหางกระรอกมากกว่า